นายมงคล วิมลรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายโอคุดะ เท็ตสึยะ ประธานสถาบันวิจัยด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น สำนักงานภูมิภาคอาเซียน – อินเดีย (JTTRI-AIRO) เป็นประธานร่วมการประชุมคณะทำงานวิชาการด้านการท่องเที่ยว ไทย – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2
8 พฤษภาคม 2567
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.30 - 16.30 น. นายมงคล วิมลรัตน์ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายโอคุดะ เท็ตสึยะ ประธานสถาบันวิจัยด้านการขนส่งและการท่องเที่ยวญี่ปุ่น สำนักงานภูมิภาคอาเซียน – อินเดีย (JTTRI-AIRO) เป็นประธานร่วมการประชุมคณะทำงานวิชาการด้านการท่องเที่ยว ไทย – ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 โดยมีผู้แทนหน่วยงาน
ด้านการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง ในฐานะคณะทำงานฯ เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และผ่านระบบการประชุมทางไกล
การประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นภายใต้หัวข้ออัตลักษณ์ประเทศและท้องถิ่น ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวสู่จุดหมายปลายทาง (National and Local Identities: Key Driver to Attract Tourist to Destination)
ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมการบรรยายในประเด็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว โดยได้รับเกียรติจาก
(1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
(2) นายสุริยนต์ ธัญกิจจานุกิจ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมนโยบายสาธารณะ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(3) นายคาวาดะ อัทสึยะ ผู้อำนวยการด้านนโยบายและแผน สำนักงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่น
(4) นายซาวาโนโบริ สึกุฮิโกะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย Jalan Research Center เข้าร่วมเป็นผู้บรรยาย
โดยฝ่ายไทยได้นำเสนอนโยบายส่งเสริมอัตลักษณ์ของประเทศ อาทิ 5Fs และ IGNITE’s Tourism Thailand ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรม
เพื่อขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยว พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพ และยกระดับการท่องเที่ยวให้กับเมืองท่องเที่ยวอื่น ๆ ผ่านการใช้ตัวชี้วัดจากการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง รวมถึงการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ
ด้านท่องเที่ยว ตลอดจนการนำนวัตกรรมมาใช้ และการส่งเสริม
การประชาสัมพันธ์ ทำการตลาดการท่องเที่ยวร่วมกัน
ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอนโยบายขับเคลื่อนกลยุทธ์เพื่อพัฒนา
การท่องเที่ยวซึ่งให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูลพื้นฐานจากการใช้นวัตกรรมมาส่งเสริมการท่องเที่ยว ทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการออกแบบการท่องเที่ยว เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยวพร้อมกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการใช้แผนการดำเนินงานที่ชัดเจน และการใช้องค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management Organization: DMO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บูรณาการร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในบูรณาการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในระดับบโยบายสู่ชุมชน
นอกจากนี้ การประชุมคณะทำงานฯ ดังกล่าว ยังเปิดโอกาสให้ที่ประชุมได้สอบถาม เสนอแนะ และแลกเปลี่ยนความเห็นที่เป็นประโยชน์ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้เชิงวิชาการดังกล่าว สู่การใช้เป็นข้อเสนอแนะในการดำเนิน
การส่งเสริมอัตลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมคณะทำงานฯ ครั้งถัดไป จะจัดขึ้นในช่วงต้นเดือนกันยายน ๒๕๖๗ โดยฝ่ายเลขานุการจะประสานแจ้งหัวข้อและกำหนดการ
ในรายละเอียดให้คณะทำงานฯ ทราบต่อไป