รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียน ครั้งที่ 1/2568
8 พฤษภาคม 2568
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 15.30 - 16.00 น. นางสาวนัทรียา ทวีวงศ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมายให้นางสาววนิดา พันธ์สอาด รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการอาเซียน ครั้งที่ 1/2568 โดยมีนายมาริษ เสงี่ยมพงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธาน โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามความคืบหน้า รวมถึงเตรียมการด้านสารัตถะและท่าทีของฝ่ายไทย ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 46 ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2568 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย ซึ่งจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อหลัก “Inclusivity” และ “Sustainability” โดยเน้นการส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน การบูรณาการทางเศรษฐกิจ การกระตุ้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย การสร้างความสมดุลทางการทูตในการมีปฏิสัมพันธ์กับภาคีภายนอก รวมถึงการรับติมอร์-เลสเต เป็นสมาชิกอาเซียนอย่างเต็มตัว ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ยกร่างประเด็นผลักดันของนายกรัฐมนตรี ได้แก่ (1) การรวมตัวในภูมิภาคที่แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นและการบูรณาการในห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค (2) การเป็นประชาคมอาเซียนที่ยั่งยืนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และ (3) การรับมือกับความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ของโลก
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เน้นย้ำความสำคัญของการบรรลุวิสัยทัศน์ “ASEAN 2045: Our Shared Future” ซึ่งที่ผู้นำจากชาติสมาชิกอาเซียนจะต้องร่วมกันให้การรับรอง ตลอดจนแผนยุทธศาสตร์ในสามเสา และปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยวิสัยทัศน์อาเซียน ปี พ.ศ. 2588 ในปีนี้
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนในอนาคต ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ผู้ประกอบการธุรกิจ MSMEs และประชาชนรุ่นใหม่มากยิ่งขึ้น รวมถึงเน้นย้ำให้หน่วยงานต่าง ๆ บูรณาการข้อมูลความร่วมมือทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีที่ทำระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และขับเคลื่อนการดำเนินการให้ครอบคลุมและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม
ในโอกาสนี้ หน่วยประสานงานหลักของความร่วมมือภายใต้ 3 เสาหลักของอาเซียน ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้รายงานความคืบหน้าบทบาทของอาเซียน ในประเด็นสถานการณ์ปัจจุบันต่าง ๆ โดยเฉพาะการรับมือกับมาตรการภาษีของสหรัฐอเมริกา การเจรจาความตกลงการค้าเสรี การพัฒนาบทบาทสตรี การส่งเสริมความมั่นคงอย่างรอบด้าน การท่องเที่ยว การตรวจลงตรา ตลอดจนความร่วมมือทางการศึกษา และการพัฒนาศักยภาพของทุนมนุษย์
นอกจากนี้ หลายหน่วยงานเน้นย้ำความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือในระดับที่ย่อยกว่าอาเซียน รวมถึงใช้ประโยชน์จากการที่ไทยเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคในหลายกรอบ อาทิ GMS ACMECS MLC ในการบูรณาการองค์ความรู้จากประเทศสมาชิก ในประเด็นใหม่ ๆ อาทิ โรคเขตร้อน และความร่วมมืออวกาศ รวมถึงใช้ประโยชน์จากกรอบอนุภูมิภาคในการสนับสนุนการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับอาเซียน
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการฯ ดังกล่าว เพื่อเตรียมการในโอกาสที่มีการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และระดับผู้นำของกรอบอาเซียนต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีก และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้หน่วยประสานงานหลักของสามเสา หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานะความคืบหน้าการดำเนินการ และแนวทางการบรรลุเป้าหมาย ภายใต้เสาต่าง ๆ